วันอาทิตย์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557

          รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้านี้ เกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และความเชื่อว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีอิทธิพลในการเมืองไทย

          ในวันที่ 20 พฤษภาคม ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กอ.รส. ปิดสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้

          หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี คสช. มีการจัดส่วนงานต่าง ๆ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และระบุว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่มีคำมั่นว่าประเทศจะหวนกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็ว

         หลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่าง ๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความยินดี โดยมองว่าเป็นทางออกของวิกฤตการณ์การเมือง แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย

เบื้องหลัง
         
          ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่โดยมียิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ภายหลัง สุเทพตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดูแลการปฏิรูปการเมือง กลุ่มนิยมรัฐบาล รวมทั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดชุมนุมเช่นกัน มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

          ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ยิ่งลักษณ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 การเลือกตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ในวันนั้นเพราะถูกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้งในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่มีมติย้ายข้าราชการระดับสูงซึ่งเป็นที่โต้เถียงใน พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีที่เหลืออยู่เลือกนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนยิ่งลักษณ์ แต่การประท้วงยังดำเนินต่อ

ลำดับเหตุการณ์

03:30 น. - กำลังทหารพร้อมอาวุธ เข้าควบคุมที่ทำการช่องโทรทัศน์ต่าง ๆ ทั้งภาคพื้นดินและผ่านดาวเทียมหลายช่อง โดยร้องขอให้เชื่อมสัญญาณออกอากาศ จากสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5[7]
04:00 น. - สื่อสังคมออนไลน์ เผยแพร่ประกาศกฎอัยการศึก และประกาศจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) [7]
06:30 น. - ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ออกประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
08:25 น. - กอ.รส.ออกคำสั่งฉบับที่ 1 ให้สื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งหมด รับสัญญาณถ่ายทอดแถลงการณ์จากกองทัพบกทุกครั้งที่ได้รับการประสาน[7]
08:42 น. - กอ.รส.ออกคำสั่งฉบับที่ 2 ให้ผู้ชุมนุมทางการเมืองอยู่ในพื้นที่เดิม โดย กปปส. ให้อยู่ที่ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร และถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงหน้าศูนย์ราชการฯ เขตหลักสี่ ส่วน นปช. ให้อยู่ที่ถนนอักษะ เขตทวีวัฒนา[7]
09:48 น. - กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 3 ห้ามสื่อข่าวที่กระทบต่อการรักษาความสงบ[8]
10:36 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 6 สั่งให้โทรทัศน์ผ่านดาวเทียมระงับการออกอากาศจำนวน 10 ช่อง รวมถึงวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับอนุญาต[9]
11:06 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 5 แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา กอ.รส.
12:40 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 4 เชิญบุคคลสำคัญร่วมประชุมแก้ปัญหาความไม่สงบ[10]
14:00 น. กอ.รส. เริ่มประชุมตามคำสั่งฉบับที่ 4 ที่สโมสรทหารบก สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปฏิเสธไม่เข้าร่วมประชุม[11]
19:34 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 8 ขอความร่วมมือสื่อสังคมออนไลน์ ระงับส่งข้อความปลุกระดม สร้างความรุนแรง ไม่เคารพกฎหมาย[12]
19:45 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 7 สั่งให้โทรทัศน์ดาวเทียมระงับการออกอากาศเพิ่มเติมอีก 4 ช่อง[13]
20:09 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 9 สั่งห้ามสื่อทุกแขนง เชิญผู้ไม่มีตำแหน่งราชการ แสดงความเห็นก่อความขัดแย้ง พร้อมสั่งให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัด เข้าระงับการชุมนุมต่อต้าน การปฏิบัติงานของ กอ.รส.[14]
20:49 น. กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 10 สั่งห้ามข้าราชการ-เจ้าหน้าที่พลเรือน-ประชาชน พกพา-ใช้อาวุธสงครามและวัตถุระเบิด เว้นทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยตามคำสั่ง[15]
21:04 น. พันเอกวินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะ โฆษก กอ.รส. ชี้แจงขั้นตอนการประกาศกฎอัยการศึกว่าเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย[16] และ กอ.รส. ออกคำสั่งฉบับที่ 12 ให้ตำรวจ, เจ้าหน้าที่พลเรือน, หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ[17][18]
21 พฤษภาคม[แก้]
วันที่ 21 พฤษภาคม 2557 กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองยังชุมนุมต่อไป กอ.รส. ตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตและสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายงานต่อ กอ.รส. เพื่อควบคุมเนื้อหาออนไลน์[19] ในช่วงบ่ายวันนั้น มีประกาศ กอ.รส. ฉบับที่ 6/2557 เพื่อเรียกตัวแทนจาก 7 ฝ่ายเข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต[20] โดยห้ามมิให้มีผู้ติดตามเดินทางมาด้วย โดยรายนามผู้ที่ได้รับเชิญมีดังนี้

ผู้แทนรัฐบาล ประกอบด้วย นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี และผู้ติดตาม 4 คน โดยนิวัฒน์ธำรง มอบหมายให้ ชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นหัวหน้าคณะแทน (ผู้ติดตามประกอบด้วย พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม วราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ)
ผู้แทนวุฒิสภา ประกอบด้วย สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และผู้ติดตาม 4 คน (ผู้ติดตามอีก 1 คน คือ พีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์)
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกอบด้วย ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง 4 คน (คณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน และเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1 คน ประกอบด้วย บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง ด้านสืบสวนสอบสวน สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการการมีส่วนร่วม และภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง)
ผู้แทนพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรค และผู้ติดตาม 4 คน โดยจารุพงศ์มอบหมายให้ วิโรจน์ เปาอินทร์ รองหัวหน้าพรรค เป็นหัวหน้าคณะแทน (ผู้ติดตามประกอบด้วย ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค ชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย และวันมูหะมัดนอร์ มะทา กรรมการยุทธศาสตร์พรรค)
ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ ประกอบด้วย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และผู้ติดตาม 4 คน (ผู้ติดตามประกอบด้วย จุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค และนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค)
ผู้แทนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ประกอบด้วย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ และผู้ติดตาม 4 คน (ผู้ติดตามประกอบด้วย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำ กปปส. และเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส.)
ผู้แทนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกอบด้วย จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน และผู้ติดตาม 4 คน (ผู้ติดตามประกอบด้วย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ธิดา ถาวรเศรษฐ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ และก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำ นปช.)
โดยการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียดตั้งแต่เวลา 13.30 น. จนประยุทธ์ จันทร์โอชาตัดสินใจให้มาประชุมกันใหม่ในวันรุ่งขึ้น (22 พฤษภาคม 2557) เวลา 14.00 น.[21] เพื่อหาทางออกของประเทศร่วมกัน ภายหลังรัฐมนตรีรักษาการได้ออกมาเผยว่าท่าทีของ พล.อ. ประยุทธ์ในที่ประชุมดูแปลกไป แต่ตนเชื่อว่า พล.อ. ประยุทธคงไม่คิดรัฐประหารแน่นอน[ต้องการอ้างอิง]

22 พฤษภาคม[แก้]


ทหารบกมีส่วนสำคัญในการก่อรัฐประหารครั้งนี้
14:00 น. - ประชุมร่วม 7 ฝ่าย เพื่อหาทางออกของประเทศครั้งที่ 2 ตามประกาศกอ.รส. ฉบับที่ 8/2557 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในที่ประชุม ระหว่างการประชุม พลเอก ประยุทธ์ เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางที่เห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ หลังจากเวลาผ่านไปสองชั่วโมงก็ไม่มีข้อยุติ ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ กับจตุพร พรหมพันธุ์แยกไปหารือเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกัน ประยุทธ์ก็ได้หารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพไปพร้อม ๆ กัน[22] เมื่อกลับมาหารือกันต่อ ประยุทธ์ได้สอบถาม ชัยเกษม นิติสิริ ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออก ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งชัยเกษม ระบุว่า นาทีนี้ไม่ลาออก และต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย ประยุทธ์จึงตอบกลับว่าจะยึดอำนาจการปกครอง[23] และสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ทั้งหมดถูกนำไปกักขัง[24] ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[25]
16:30 น. - ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที รวมถึงให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) หมดอำนาจ แต่คำสั่งต่าง ๆ ยังมีผลต่อเนื่องอยู่[26]
17:00 น. - เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณถนนอุทยาน[27]
17:30 น. - เจ้าหน้าที่ทหารเข้าคุมพื้นที่ถนนอุทยานสำเร็จ และสั่งให้กลุ่ม นปช. ยุติความเคลื่อนไหวจนกว่าจะมีคำสั่ง สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ของตน และให้อยู่ในอำนาจตามที่กำหนด[27]
18:00 น. - คสช. ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรอีกครั้ง[26]
18:20 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 3 ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 น. - 5.00 น. ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่[26] ผลแห่งประกาศนี้ทำให้สถานที่สำคัญหลายแห่งทั่วประเทศประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป รวมถึงระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ก็ประกาศปิดทำการก่อนเวลาเช่นกัน กล่าวคือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น.[28] รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น.[29] และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น.[30] สำหรับสายซิตี้ไลน์จะออกในเวลา 21.02 น. และสำหรับสายเอ็กซ์เพรสไลน์ จะออกจากสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเที่ยวสุดท้ายในเวลา 21.00 น.[31]
18:30 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 4 บังคับให้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และโทรทัศน์ดาวเทียมทุกสถานี งดออกอากาศรายการตามปกติ และให้ใช้สัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกออกอากาศไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลง[26] ผลแห่งประกาศนี้ทำให้ ทรูวิชันส์[32] จีเอ็มเอ็มแซต[33] และซีทีเอช[34] ที่เป็นบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ต้องใช้สัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกออกอากาศไปบนช่องรายการทุกช่องโดยไม่ว่าจะเป็นช่องรายการในประเทศหรือนอกประเทศจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
19:00 น. - คสช. ออกประกาศให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมกลับสู่ภูมิลำเนาตามเดิม โดยทางกองทัพบกได้จัดขบวนรถจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเพื่ออำนวยความสะดวก และได้ออกคำสั่งให้ทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ช่วยจัดการบริหารให้ประชาชนเดินทางกลับ[26]
19:10 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 5 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง ส่วนวุฒิสภา ศาล และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญยังปฏิบัติหน้าต่อไป[26]
19:19 น. -คสช. ออกประกาศฉบับที่ 6[26]
19:42 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 7[26]
20:55 น. - คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 8 โดยให้ยกเว้นข้อห้ามการออกจากเคหสถานยามค่ำคืนให้กับบางบุคคล[26]
21:00 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 1 โดยให้อดีตรัฐมนตรี 18 คนเข้ารายงานตัว[35]
21:06 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 9[26]
23:54 น . - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 10[26]
23:57 น . - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 11 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์[26]
23 พฤษภาคม[แก้]
00:01 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 12[26]
00:52 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 13[26]
00:57 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 14[26]
01:03 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 15 โดยให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิทัล และวิทยุชุมชน ทั้งหมด 15 ช่อง ตามคำสั่ง กอ.รส. ฉบับที่ 6 และ 7/2557[26]
01:14 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 2 เพื่อเรียกตัวบุคคลสำคัญทั้งสิ้น 23 คน รวมยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเข้าพบ คสช.[26]
01:35 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 16[26]
01:39 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 17[26]
01:47 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 18[26]
01:59 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 19[26]
03:00 น. - ตัวแทนฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่ถูกคุมตัวได้รับการปล่อยตัว[36]
09:00 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 3 เพื่อเรียกตัวบุคคลสำคัญเข้าพบเพิ่มอีก 114 คน เข้าพบ คสช. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ในเวลา 10:00 น.[26]
09:57 น. - อดีตคณะรัฐมนตรี รวมยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และกลุ่มบุคคลตามคำสั่งที่ 1-3 ทยอยมารายงานตัวกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในขณะที่ตัวแทนฝ่ายพรรคเพื่อไทยก็ได้รับการปล่อยตัวเช่นกัน[37][38][39][40]
11:40 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 20[26]
12:10 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 21[26]
13:05 น. - คสช. อนุมัติให้ประกาศฉบับที่ 4/2557 ไม่มีผลกับโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก ดังนั้น ช่อง 3, ช่อง 5, ช่อง 7, โมเดิร์นไนน์ และเอ็นบีทีจึงกลับมาออกอากาศได้ตามปกติตั้งแต่เวลา 16:00 น. ของวันนี้[41]


รูปแบบตราเครื่องหมาย คสช.ที่แสดงบนหน้าจอ ของช่องโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาต
16:32 น. - คสช. อนุมัติให้ประกาศฉบับที่ 4/2557 ไม่มีผลกับโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกเพิ่มเติม ดังนั้น สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สามารถกลับมาออกอากาศได้ตามปกติ ตั้งแต่เวลา 18:00 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557[42]
16:55 น. - กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเริ่มตั้งกลุ่มชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน เจ้าหน้าที่ทหารได้พยายามขอคืนพื้นที่แต่ไม่สำเร็จ[43]
16:59 น. - อิสสระ สมชัย แถลงว่า แกนนำกลุ่ม กปปส. ทั้งหมด 30 คน จะเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่ดีเอสไอในช่วงเช้าของวันที่ 26 พฤษภาคม[44]
17:07 น. - กลุ่มประชาชนเริ่มใช้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ แขวนป้ายแสดงจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร[43]
17:17 น. - กลุ่มทหารเริ่มใช้อำนาจสลายการชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมโห่ไล่จนต้องถอนตัวออกจากพื้นที่[ต้องการอ้างอิง]
18:05 น. - สถานีโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกทั้ง 6 ช่อง กลับมาออกอากาศรายการตามปกติ โดยแสดงภาพสัญลักษณ์ที่ คสช.กำหนดไว้บนหน้าจอ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันการอนุโลมให้ออกอากาศ[45]
18:09 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 22[26]
19:30 น. - เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มสลายการชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครอีกครั้ง หลังครั้งที่แล้วไม่สำเร็จ[46] มีผู้ถูกจับกุม 5 คน ทราบชื่อ 3 คน คือ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารและสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, ว่าที่ร้อยตรีอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ และบุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์[47]
19:37 น. - คสช. เผยแพร่ข่าวผ่านแถบตัวอักษรวิ่ง ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ประกาศอนุโลมให้ผู้ที่ต้องขับรถขนถ่ายเชื้อเพลิงสามารถออกนอกเคหสถานโดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่[ต้องการอ้างอิง]
20:10 น. - เจ้าหน้าที่ทหารควบคุมพื้นที่บริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติ มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมอย่างน้อย 5 ราย ทราบชื่อ 3 ราย คือ อภิชาติ พงษ์สวัสดิ์, บุณยรักษ์ วัฒนะรัตน์ และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และประสานให้หอศิลป์วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสถานีรถไฟฟ้าสนามกีฬาแห่งชาติตัดไฟบริเวณด้านหน้าอาคารและทางเดินสกายวอล์คทั้งหมด ทั้งจัดกำลังเจ้าหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยทั้งบนสถานีรถไฟฟ้า และด้านหน้าอาคาร[46][48]
20:15 น. - คสช. ปล่อยตัว สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย หลังเข้าควบคุมตัวขณะเข้ามารายงานตัวเมื่อช่วงบ่าย[49] ส่วนยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกเจ้าหน้าที่ทหารคุมตัวขึ้นรถตู้ไปยังค่ายอดิสร จังหวัดสระบุรี และกักตัวไว้เป็นเวลา 3 วันเพื่อความปลอดภัย[50]
23:30 น. - คสช. ประกาศเรียกผู้ให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิทัลทั้งหมด เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือ และรับฟังคำชี้แจงแนวทาง ในการกลับมาออกอากาศ โทรทัศน์ระบบดิจิทัลตามปกติ ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เวลา 09:00 น. ที่กองบัญชาการรักษาความสงบแห่งชาติ[ต้องการอ้างอิง]
24 พฤษภาคม[แก้]
00:30 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 23[ต้องการอ้างอิง]
09:35 น. - ผู้ให้บริการช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัล และโทรทัศน์ผ่านสายเคเบิลระดับชาติ เข้าพบ คสช. โดยคาดว่าจะสามารถออกอากาศได้ในวันเดียวกัน[51]
10:25 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 5 เพื่อเรียกตัวบุคคลสำคัญทั้งสิ้น 35 คน มีทั้งสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, บุคคลสำคัญของกลุ่มพันธมิตรฯ, บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองย้อนหลังไปจนถึง พ.ศ. 2549 และศรันย์ ฉุยฉาย (อั้ม เนโกะ) อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าพบ คสช.[52]
10:40 น. - คสช. ออกประกาศเฉพาะฉบับที่ 25[53]
10:50 น. - คสช. ยกเว้นประกาศฉบับที่ 4/2557 แก่ช่องโทรทัศน์ระบบดิจิทัลทั้งหมดโดยอนุโลม จึงสามารถกลับมาออกอากาศตามปกติอีกครั้ง ยกเว้นวอยซ์ทีวี ช่อง 21 ที่ยังระงับการออกอากาศ[51] ซึ่งแต่เดิมรวมถึงโทรทัศน์ดาวเทียม 274 ช่องรายการ ที่มีเนื้อหาสาระซึ่งไม่ขัดต่อประกาศ คสช.ด้วย[54] โดยทุกช่องที่กลับมาออกอากาศจะแสดงภาพสัญลักษณ์ที่ คสช.กำหนดไว้บนหน้าจอ
10:53 น. - เจ้าหน้าที่ทหารปิดการจราจรบนถนนพหลโยธินทั้งขาเข้าและขาออก ใกล้กับสี่แยกรัชโยธิน หลังเริ่มมีกลุ่มผู้ชุมนุมมาประท้วงรัฐประหาร[55]
11:58 น. - เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มตรึงกำลังบริเวณด้านหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน เขตจตุจักร หลังมีผู้ชุมนุมเริ่มตั้งกลุ่มประท้วงการทำรัฐประหารอีกครั้งและมีทีท่าว่าเหตุการณ์จะบานปลาย[55]
15:03 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 27[56]
16:15 น. - เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเริ่มตรึงพื้นที่บริเวณทางเข้าสถานีตำรวจนครบาล บางซื่อ หลังเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สำเร็จ และต้องการเคลื่อนขบวนต่อ โดยผู้ชุมนุมเตรียมใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสในการหลีกเลี่ยงการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และเดินทางไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ[57][58]
16:40 น. - กลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร เริ่มใช้พื้นที่บนสกายวอล์ครอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิปักหลักชุมนุม[57]
16:57 น. - เจ้าหน้าที่ทหารเริ่มบุกเข้ามาในพื้นที่ชุมนุม แต่ฝั่งผู้ชุมนุมขัดขืนและวิ่งไล่เจ้าหน้าที่ให้ออกจากพื้นที่ชุมนุม[57]
17:00 น. - ผู้ชุมนุมบางส่วนปักหลักชุมนุมที่บริเวณสี่แยกปทุมวันอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารได้ตรึงกำลังไว้ก่อน ภายหลังผู้ชุมนุมถอยร่นไปยังบริเวณสนามกีฬาแห่งชาติ บางส่วนหนีเข้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ แต่ไม่นานเจ้าหน้าที่ของศูนย์การค้าจะออกมาปิดประตูทางเชื่อมสกายวอล์คทั้งหมด[57]
17:54 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 28 โดยระบุว่าถวายรายงานสถานการณ์ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบ และมีหนังสือตอบกลับจากสำนักราชเลขาธิการว่าความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทเรียบร้อยแล้ว[59]
18:00 น. - พลตำรวจเอก ประชา พรหมนอก ถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวได้ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภายหลังจึงส่งไปรายงานตัวต่อ คสช. ก่อนจะถูกย้ายตัวไปยังค่ายทหาร เช่นเดียวกับผู้เข้ารายงานตัว คนอื่นๆ[60]
18:11 น. - ผู้ชุมนุมบริเวณสี่แยกปทุมวัน เริ่มทยอยกลับ[57]
18:48 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 7, 8, 9 เนื้อหาย้ายและแต่งตั้งข้าราชการ และออกประกาศฉบับที่ 30 ให้วุฒิสภาสิ้นสุดลง[61]
19:00 น. - คสช.บังคับให้ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม ที่ไม่เป็นช่องโทรทัศน์บอกรับสมาชิกหลายช่อง งดออกอากาศรายการปกติอีกครั้ง โดยช่องซีเอ็นเอ็น, บีบีซี เวิลด์นิวส์ ตลอดจนช่องข่าวจากต่างประเทศทั้งหมด ถูกระงับการออกอากาศไปก่อน ตั้งแต่ประกาศที่ 27/2557 มีผลใช้บังคับ[ต้องการอ้างอิง]
20:15 น. - คสช. ออกคำสั่งห้ามผู้ให้บริการโทรทัศน์ทุกช่อง มิให้เปิดรับข้อความตัวอักษร หรือการโทรศัพท์เข้าแสดงความคิดเห็นต่างๆ ภายในรายการ หากฝ่าฝืน คสช.จะลงโทษจากเบาไปหาหนักคือ ตักเตือน เรียกพบ และออกคำสั่งระงับสัญญาณช่องรายการในที่สุด[54]
21:11 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 6 และฉบับที่ 10[62] และออกประกาศฉบับที่ 29, 31, 32, 33
21:36 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 11 เนื้อหาย้ายและแต่งตั้งข้าราชการ และฉบับที่ 12[63]
22:35 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 35[ต้องการอ้างอิง]
23:25 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 36 และออกคำสั่งที่ 13 เรียกตัวบุคคลเพิ่ม 6 รายรวมกาญจนา หงษ์เหิน เลขานุการของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร และพิชิต ชื่นบาน (ทนายถุงขนม 2 ล้านบาท) เข้าพบ คสช.[64]
23:28 น. - สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ รักษาการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งให้นายตำรวจ 8 รายที่เกี่ยวข้องกับทักษิณ ชินวัตร ให้ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระรามที่ 1 เขตปทุมวัน โดยให้ละทิ้งหน้าที่เดิมที่รับผิดชอบอยู่ รวมถึงแต่งตั้งนายตำรวจรักษาการแทน[65]
25 พฤษภาคม[แก้]
8:57 น. - หัวหน้า คสช. ออกแถลงถึงเหตุการณ์ย้ายข้าราชการระดับสูงและเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงคืนวานนี้ และอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมต้องออกคำสั่งเรียกตัวบุคคลมาพบ ก็เพื่อให้มาปรับความเข้าใจเรื่องความขัดแย้ง[ต้องการอ้างอิง]
10:00 น. - กลุ่มต่อต้านรัฐประหารได้เดินทางมายังร้านแมคโดนัลด์ สาขาศูนย์การค้าอมรินทร์พลาซ่า ใกล้แยกราชประสงค์ เพื่อทำกิจกรรมต่อต้านรัฐประหาร โดยทหารได้ตรึงกำลังโดยรอบ มีรายงานผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัว 1 ราย[ต้องการอ้างอิง]
10:00 น. - ประวิทย์ โรจนพฤกษ์ เดินทางเข้าพบ คสช. ตามคำสั่ง โดยเข้ามาพร้อมกับ อานนท์ นำภา ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 3 คน[66] หลังจากนั้นไม่นานไพวงษ์ เตชะณรงค์, วิมลรัตน์ กุลดิลก และพิชิต ชื่นบาน ก็เดินทางเข้าพบ คสช. ตามคำสั่งเช่นกัน[67]
10:10 น. - เจ้าหน้าที่จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 3 คน เดินทางออกจากหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ โดยไม่ได้มีอานนท์ นำภา และประวิทย์ โรจนพฤกษ์ ติดตามออกมาด้วย[66]
11:00 น. - มีกลุ่มบุคคลแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหารประมาณ 30 คน ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ ในจำนวนนี้มีชาวไทยสัญชาติอเมริกันเข้าร่วมด้วย[68]
11:30 น. - กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ออกเดินทางจากสถานทูตไปสมทบกับกลุ่มผู้ชุมนุมอีกกลุ่มที่บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าอมรินทร์พลาซ่า ในเวลาไม่นานเจ้าหน้าที่ก็ได้เข้ามาตรึงกำลัง และปิดการจราจรบนถนนวิทยุ ตั้งแต่แยกสารสินจนถึงแยกเพลินจิต เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ชุมนุมมาชุมนุมด้านหน้าสถานทูตอีก[68]
14:30 น. - กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนตัวจากบริเวณหน้าศูนย์การค้าอมรินทร์พลาซา ผ่านแยกราชประสงค์ ไปทางประตูน้ำ เพื่อเดินทางไปยังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ[ต้องการอ้างอิง]
14:40 น. - คสช. ออกแถลงว่าได้ประสานให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมดำเนินคดีโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ฐานลงข้อความที่ผิดต่อประกาศ คสช. และพยายามอ้างว่ารัฐบาลไทยกำลังจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น โดยเบื้องต้นได้แจ้งให้กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร ปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงข้อความดังกล่าวทุกวิถีทางแล้ว[69]
14:51 น. - คสช. ออกแถลงว่าให้ชาวนาเข้ามารับเงินค่าจำนำที่ค่ายทหารและกองทัพอากาศ ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยใช้งบสี่หมื่นล้านบาทที่เป็นเงินกู้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการจ่ายล็อตแรก ส่วนล็อตหลังจะเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินภายในประเทศทั้งหมดห้าหมื่นล้านบาท โดย คสช. คาดว่าจะใช้เวลา 1 เดือน ในการจ่ายเงินค่าจำนำให้ชาวนาครบทุกราย ส่วนระยะเวลาการชำระคืนคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 14-15 เดือน ถึงจะสามารถปลดหนี้ส่วนนี้ได้[70]
15:00 น. - กลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว[ต้องการอ้างอิง]
16:02 น. - วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวความมั่นคง หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รายงานอ้างถึงคำแถลงของ คสช. ว่าผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐอเมริกา โทรศัพท์ถึง พลเอก ประยุทธ์ โดยเชื่อใจและให้กำลังใจ พลเอก ประยุทธ์ ในรัฐประหารครั้งนี้[71]
16:12 น. - พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ได้ทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่าเศร้าสลดกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และต้องการให้ คสช. คืนอำนาจแก่ประชาชนโดยเร็ว[72]
16:23 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 37 ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-118 และความผิดตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช. โดยให้ยกเว้นคดีความผิดในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (พ.ร.บ. มั่นคง) และ พ.ร.บ. บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน[73] ภายหลังมีประกาศเพิ่มเติมว่าความผิดข้างต้น ห้ามจำเลยแต่งตั้งทนายมาสู้คดี และจำเลยไม่มีสิทธิ์นำคดีไปยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา[ต้องการอ้างอิง]
18:31 น. - พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว โดยให้รอรับพระบรมราชโองการ ที่กองบัญชาการทหารบกในเวลา 10:49 น. ของวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557[74]
19:50 น. - พลโท ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 สั่งปลด พลตำรวจตรี กริช กิติลือ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ละทิ้งหน้าที่ปัจจุบัน และย้ายเข้ามาช่วยราชการโดยไม่มีตำแหน่งใน สำนักงานผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 หลังมีเบาะแสว่า พลตำรวจตรี กริชแอบให้ความช่วยเหลือพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายพันตำรวจโท ทักษิณ[75]
19:58 น. - คสช. ทวิตอย่างเป็นทางการ ขอความร่วมมือให้ประชาชนหรือร้องขอให้บุคคลในครอบครัว ไม่ออกมาเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านการทำงานของ คสช. เพราะถึงทำไปก็ไม่มีประโยชน์ และเจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิ์ดำเนินการตามคำสั่งภายใต้กฎอัยการศึกและประกาศหรือคำสั่งของ คสช. และถ้าประชาชนได้รับความเดือดร้อนหรือได้รับบาดเจ็บ จะไม่มีสิทธิ์เรียกร้อง[76]
20:33 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 14, 15 และ 16 โดยให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม 38 คน โดยรวมอรรถชัย อนันตเมฆ อดีตข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี[77] และฉบับที่ 17 อนุญาตให้ขนส่งสินค้าทางบก/ทางน้ำ/ทางอากาศในห้วงเวลาที่ห้ามออกนอกเคหสถาน แต่เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ ถ้าพบสิ่งผิดปกติ[78]
21:09 น. - ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 5 ประกาศยกเลิกคำสั่งย้าย พลตำรวจตรี กริช กิติลือ หลังมีหนังสือส่งมาอีกฉบับว่า ตัวหนังสือที่ส่งมาก่อนหน้ามีเหตุขัดข้องบางประการ[79]
21:34 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 38[80]
22:45 น. - ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับการปล่อยตัวจากค่ายทหาร[81]
23:00 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 18 โดยให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่ม 4 คน รวมทั้ง พลตำรวจตรี อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และแทนคุณ จิตต์อิสระ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์[82]
23:45 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 19 โดยให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่ม 2 คน[83]
26 พฤษภาคม[แก้]
9:25 น. - ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ออกมายืนยันว่าพร้อมจ่ายค่าจำนำให้ชาวนาภายในสามวัน โดยจะจ่ายครบ 830,000 คน ภายในเดือนมิถุนายนนี้[ต้องการอ้างอิง]
9:49 น. - เจ้าหน้าที่ทหารคุมตัวสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมแกนนำ กปปส. ออกจากค่ายทหาร และพาเข้ารายงานตัวในคดีกบฏกับสำนักงานอัยการสูงสุด[84]
10:49 น. - กองทัพบกจัดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ [85][86]
11:24 น. - พลเอก ประยุทธ์ แถลงข่าวหลังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นหัวหน้า คสช.[87]ความตอนหนึ่งว่า จำเป็นต้องรัฐประหารเพื่อให้ประเทศเดินหน้า จากนี้จะแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราว แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ระหว่างนี้ คสช. จะบริหารราชการไปพลางก่อน[88]
12:00 น. - ศาลอาญามีคำสั่งประทับรับฟ้องในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องสุเทพ เทือกสุบรรณ ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล จากกรณีมีคำสั่งสลายการชุมนุมของ นปช. เมื่อ พ.ศ. 2553 ส่วนคดีกบฏ ของกรมสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ได้มีการพิจารณา[89]
14:00 น. - สุเทพ เทือกสุบรรณ ยื่นคำร้องและหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝากของธนาคารกสิกรไทยเพื่อขอประกันตัว ต่อมาศาลอนุมัติคำร้องให้ประกันตัวได้ โดยตีราคาการประกันตัวที่ 600,000 บาท และมีข้อแม้ว่าห้าม สุเทพ เทือกสุบรรณ เดินทางออกจากประเทศ ถ้าไม่ได้รับอนุญาตจากศาล อีกทั้งศาลนัดให้มาตรวจพยานหลักฐานอีกครั้งในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ ภายหลังเจ้าหน้าที่คุมตัวขึ้นรถและเดินทางกลับไปยังบ้านพักตามปกติ[89]
15:28 น. - แกนนำ กปปส. 13 ราย ได้รับการประกันตัวชั่วคราว หลังวางเงินประกันตัวคนละ 100,000 บาท อัยการนัดสอบปากคำเพิ่มรายบุคคลภายหลัง[90]
16:30 น. - กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารเดินทางมาชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอีกครั้งเป็นวันที่ 3[ต้องการอ้างอิง]
18:30 น. - กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐประหารแยกย้ายออกจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและบริเวณข้างเคียง[ต้องการอ้างอิง]
20:08 น. - ทรูวิชันส์ ออกแถลงกรณีการระงับการออกอากาศช่องข่าวสารต่างประเทศ 14 ช่อง เช่น ซีเอ็นเอ็น, บีบีซี เวิลด์นิวส์, ซีเอ็นบีซี ว่าช่องรายการดังกล่าวไม่สามารถควบคุมเนื้อหาบนจอโทรทัศน์ได้ อาจเข้าข่ายความผิดตามประกาศของ คสช. จึงจำเป็นต้องระงับการส่งสัญญาณชั่วคราว[91]
21:07 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 39, 40 และ 41[92][93]
21:45 น. - พันเอก ณัฐวัฒน์ จันทร์เจริญ รองโฆษกกองทัพบก แถลงกรณีที่มีการแชร์ข้อความในเฟซบุ๊ก จากบุคคลที่อ้างว่าชื่อ "ตาล" ที่ลงประกาศจ้างบุคคลชุมนุมต่อต้าน คสช. โดยมีค่าแรงให้วันละ 400 บาทถึง 1,000 บาทต่อคน[94] รวมถึงระบุว่ามีนายทุนตู้ม้าเถื่อนคอยหนุนหลังสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนออกมาต้าน คสช. และขอประชาชนอย่าชุมนุมต่อต้าน คสช.[95]
22:42 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 23 เรียกบุคคลเข้าพบ 16 คน รวมบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี และชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย[96]
27 พฤษภาคม[แก้]
14:00 น. - พล.ต.พลภัทร วรรณภักตร์ เลขานุการกองทัพบก ได้เชิญตัวศุภฤกษ์ ธงไชยฤทธิ์ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และวาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหารหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เข้าพบที่ห้องทำงานเพื่อแจ้งข้อความจาก พล.อ.ประยุทธ์ ให้รับทราบ พร้อมขอความร่วมมือกรณีการตั้งคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ รู้สึกไม่ดีต่อการที่ต้องถูกตั้งคำถามในลักษณะรุกไล่[97]
15:40 น. - ทหารเข้าควบคุมตัวจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อาคารมณียาเซ็นเตอร์ ถนนเพลินจิต ท่ามกลางผู้สื่อข่าวจำนวนมาก โดยจาตุรนต์มิได้ขัดขืน[98][99]
20:40 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 42 โดยปรับเวลาห้ามออกนอกจากเคหสถาน จากเดิมเป็น เวลา 00.01 - 4.00 น. และออกคำสั่งเฉพาะฉบับที่ 24
28 พฤษภาคม[แก้]
15:55 น. - เว็บไซต์เฟซบุ๊กและอินสตาแกรมถูกปิดชั่วคราว ผู้ใช้บริการของทีโอที เมื่อเข้าเพจดังกล่าวจะพบข้อความ “ปิดชั่วคราว ตามคำสั่ง กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย” ก่อนกลับมาใช้ได้ตามปกติเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.[100]
16:45 น. - เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจาตุรนต์มายังกองบังคับการปราบปราม เพื่อเตรียมนำตัวไปขึ้นศาลทหาร นับเป็นพลเรือนคนแรกที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร[101]
18:30 น. - เกิดความวุ่นวายระหว่างการชุมนุมประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทหารจับผู้ชุมนุมไป 2 คน ผู้ชุมนุมสลายตัวอีกประมาณ 10 นาทีต่อมา[102]
29 พฤษภาคม[แก้]
12:03 น. - คสช. ออกประกาศ ฉบับที่ 46/2557 ห้ามติดตามทวงหนี้ชาวนาอย่างไม่เป็นธรรม และออกคำสั่ง ฉบับที่ 30-31 เรียกบุคคลมารายงานตัวเพิ่ม[103]
15:35 น. - ตำรวจปิดการจราจรรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ห้ามบุคคลภายนอกเข้า จนกว่าการชุมนุมจะยุติ[104]
6 มิถุนายน[แก้]
21:30 น. - เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด หลังจากไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. โดยมีรายงานว่าถูกนำไปควบคุมตัวไว้ที่ค่ายทหาร ร.21 รอ. ชลบุรี[105]
8 มิถุนายน[แก้]
19:15 น. - โทรทัศน์ทุกช่องเริ่มทยอยนำตราเครื่องหมาย คสช.ออกจากมุมขวาบนของหน้าจอ (มีเพียงช่องพีพีทีวีที่แสดงอยู่มุมซ้ายบน) หลังจากได้รับอนุญาตแล้ว[106] โดยในส่วนโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบแอนะล็อก ช่องแรกที่นำออกคือ ททบ. ตามด้วยช่อง 7 สี, โมเดิร์นไนน์ทีวี, ไทยพีบีเอส, ไทยทีวีสีช่อง 3 และ สทท. อนึ่ง ตราเครื่องหมายของ คสช.ดังกล่าว ยังคงใช้แสดงที่มุมขวาบนของหน้าจอโทรทัศน์ ขณะออกประกาศหรือคำสั่งแทรกรายการปกติของทุกช่อง
9 มิถุนายน[แก้]
เจ้าหน้าที่ทหารจับกุมทอม ดันดี ที่ ต.วังจันทร์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี และนำส่งศาลทหาร[107]
10 มิถุนายน[แก้]
ฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คสช. ปลัดกระทรวง และเจ้ากรมพระธรรมนูญ รวม 28 คนต่อศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและกบฏ จากการประกาศกฎอัยการศึกและยึดอำนาจการปกครองประเทศ[108] ต่อมา ศาลอาญาให้ยกฟ้อง เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในคดีนี้ ศาลพิจารณาว่า ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรถือเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเป็นผู้เสียหาย จึงมีพนักงานอัยการเท่านั้นที่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล[109]
13 มิถุนายน[แก้]
คสช. ออกประกาศฉบับที่ 64 ประกาศยกเลิกห้ามประชาชนออกจากเคหสถานทั่วราชอาณาจักร[110]
19 มิถุนายน[แก้]
คสช.ออกคำสั่งที่ 70/2557 ย้ายอธิบดีกรมจัดหางานนาย ประวิทย์ เคียงผล และ ผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์มาปฏิบัติราชการที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี[111]

กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย

กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) (อังกฤษ: Peace and Order Maintaining Command (POMC)) เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งตามประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 2/2557 หลังจากการประกาศกฎอัยการศึก ตั้งกองบัญชาการที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์

การระงับการออกอากาศ ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชน[แก้]
ตามคำสั่งที่ 6/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือ ระงับการถ่ายทอดออกอากาศ ของช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชน

สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอเชียอัปเดต
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ดีเอ็นเอ็น
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ยูดีดี
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม พีแอนด์พี
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม โฟร์แชนแนล
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอ็มวี 5
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม บลูสกาย
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอเอสทีวี
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ทีนิวส์
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เอฟเอ็มทีวี
วิทยุชุมชน ที่ไม่ได้รับอนุญาต ให้จัดตั้งตามกฎหมาย
และตามคำสั่งที่ 7/2557 เรื่อง ขอความร่วมมือ ระงับการถ่ายทอดออกอากาศ ของช่องโทรทัศน์ดาวเทียม และวิทยุชุมชนเพิ่มเติม

สถานีโทรทัศน์ วอยซ์ทีวี
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ฮอตทีวี
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม One Rescue
สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นคณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง ซึ่งมีประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้า ซึ่งเข้ายึดอำนาจการปกครองราชอาณาจักรไทยไว้ได้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

การบริหารและนโยบาย[แก้]

คืนวันที่ 22 พฤษภาคม คสช. ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง เว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากนี้ ยังสั่งยุบคณะรัฐมนตรีรักษาการ แต่วุฒิสภา ศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังทำหน้าที่ต่อ คสช. ออกประกาศให้หัวหน้าคณะใช้อำนาจหน้าที่ซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีและยังวางตัวสมาชิกสั่งการกระทรวงและส่วนราชการที่เทียบเท่า

ในวันที่ 23 พฤษภาคม พลเอก ประยุทธ์ แถลงว่า คสช. มุ่งดำเนินการปฏิรูปประเทศในทุกด้านก่อนมีการเลือกตั้ง มีผู้เล่าว่า พลเอก ประยุทธ์ ชี้แจงต่อหน่วยงานต่าง ๆ ว่า จำเป็นต้องรัฐประหารเพราะคู่ขัดแย้งไม่สามารถตกลงหาทางออกให้กับประเทศ ทั้งส่งผลให้ไม่มีเงินเดือนจ่ายข้าราชการในปีงบประมาณ 2558 และไม่มีใครทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว เขาย้ำว่าถือการปราบปรามขบวนการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นนโยบายหลัก และเรื่องเร่งด่วนที่ต้องจัดการ คือ ปัญหาโครงการรับจำนำข้าว เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ภายใน 15-20 วัน เขากล่าวถึงแผนพัฒนาประเทศที่จะดำเนินการในอนาคต คือ โครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง[116] พลเอก ประยุทธ์กล่าวว่า จะตั้งสภาปฏิรูปและสมัชชาแห่งชาติเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศ และจะปกครองประเทศต่อไปจนกว่าสถานการณ์ต้องการรัฐบาลชั่วคราว

ไม่มีคำมั่นว่าจะกลับคืนสู่การปกครองพลเรือนโดยเร็ว ซึ่งผิดแปลกจากรัฐประหารก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้น คสช. ประกาศว่า หัวหน้าคณะจะตัดสินใจนโยบายการบริหารประเทศ ทั้ง "ระยะสั้นและระยะยาว"

วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 คสช. ยุบวุฒิสภาที่มีอยู่และให้หัวหน้าคณะมีอำนาจนิติบัญญัติ คสช. ยังสั่งให้อำนาจตุลาการดำเนินการภายใต้คำสั่ง คสช. ย้ายพลตำรวจเอก อดุลย์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าคณะฯ และธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปดำรงตำแหน่งที่ไม่มีหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี อดุลย์และธาริตถูกมองว่าภักดีต่อรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ได้รับแต่งตั้งแทนอดุลย์

วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:

ประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ภายหลัง คสช. ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับทราบรัฐประหารครั้งนี้แล้ว แต่ไม่อธิบายว่าการสนองดังกล่าวเป็นการสนับสนุน ต่อมา วันที่ 26 พฤษภาคม มีพิธีสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอก ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. พระบรมราชโองการดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหัวใจสร้างความชอบธรรมแก่รัฐประหาร

วันที่ 25 พฤษภาคม คสช. ให้ศาลทหารมีอำนาจไต่สวนคดีเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ความมั่นคงของชาติหรือละเมิดคำสั่งของ คสช. พลเรือนไม่ได้รับอนุญาตให้มีทนายความในศาลทหารวันเดียวกัน ศสช. ค้นบ้านพักของสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารซึ่งปัจจุบันถูกจำคุกสิบเอ็ดปีฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ใน พ.ศ. 2556 คสช. กักขังภรรยาเขา ซึ่งกำลังรณรงค์ด้านนักโทษการเมือง และบุตรชาย ซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจารณ์กฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยถูก คสช. กักขังไว้เช่นกัน

วันที่ 26 พฤษภาคม ประยุทธ์แถลงทางโทรทัศน์ว่า จะให้ประเทศกลับคืนสู่ประชาธิปไตยในสิบห้าเดือน โดยขั้นแรกจะมุ่งสร้างความปรองดองในสามเดือน ขั้นที่สองจะตั้งคณะรัฐมนตรีและร่างรัฐธรรมนูญเป็นเวลาหนึ่งเดือน ขั้นที่สาม ประยุทธ์กล่าวว่า "ขั้นที่สามคือการเลือกตั้งทั่วไปภายใต้ระบบประชาธิปไตยสมบูรณ์ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย" และ "จะมีการปรับกฎหมายให้ทันสมัยเพื่อให้ได้คนดีและซื่อสัตย์ปกครองประเทศ" เขายังกล่าวอีกว่า "คนไทยอาจไม่มีความสุขมาเก้าปี แต่หลังวันที่ 22 พฤษภาคม จะมีความสุข"

วันที่ 27 พฤษภาคม คสช. มีคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน วันที่ 28 พฤษภาคม มีคำสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มอีก 5 จังหวัด มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน

หลัง คสช. ประกาศเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนว่าจะจัดการกับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายในประเทศไทย โดยว่า "เรามองว่าแรงงานเถื่อนเป็นภัยคุกคาม" ผู้อพยพต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งเป็นหญิงและเด็กเกินครึ่ง ออกนอกประเทศทันทีในวันเดียวกัน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) อธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวเป็น "การไหลบ่าเฉียบพลัน" และแสดงความกังวล

วันเดียวกัน กองทัพไทยส่งผู้แทนไปยังประเทศจีนเพื่อประชุมความมั่นคงในภูมิภาคและการฝึกซ้อมร่วม ซึ่งความพยายามสานสัมพันธ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังชาติตะวันตกวิพากษ์วิจารณ์รัฐประหาร คสช. แถลงว่า ประเทศจีนและเวียดนามสนับสนุนตน นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของประเทศมาเลเซียยังมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยด้วย ซึ่งกองทัพไทยแถลงว่าการเยือนดังกล่าวแสดงถึงความเข้าใจอันดีต่อสถานการณ์ในประเทศไทย

วันที่ 17 มิถุนายน หนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล เขียนว่า คสช. กำลังขยายการควบคุมเหนือรัฐวิสาหกิจ 56 แห่งของไทย รวมถึงการบินไทยและ ปตท. ซึ่งมีสินทรัพย์กว่า 360,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ รัฐวิสาหกิจเป็นสมรภูมิระหว่างสองกลุ่มแยกการเมือง จนลงเอยด้วยรัฐประหารในที่สุด

ผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าในภาคเหนือของประเทศไทยถูกจับกุมและจะได้รับการปล่อยตัวต่อเมื่อจ่าย "ค่าคุ้มครอง" ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน มีผู้ย้ายถิ่นชาวพม่าถูกจับกุมกว่า 1,000 คน กลุ่มสิทธิกล่าวว่า นายจ้างในภาคใต้ของประเทศไทยแนะนำคนงานต่างด้าวของตนให้ไปซ่อนตัวในป่าหรือสวนยางพาราเพื่อเลี่ยงการจับกุม

มาตรการเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐตั้งข้อสังเกตว่า การบริหารประเทศหลังรัฐประหารครั้งนี้เน้นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นวัตถุประสงค์หลัก คสช. เริ่มให้ ธ.ก.ส. นำเงินสภาพคล่อง 40,000 ล้านบาทมาจ่ายหนี้โครงการรับจำนำข้าว 92,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม นอกจากนี้ ยังมีการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 เพื่อให้เงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว และยังเร่งรัดจัดทำงบประมาณปี 2558

วันที่ 28 พฤษภาคม พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ รองหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ขอเวลา 2 สัปดาห์ทบทวนโครงการลงทุนตามแผนแม่บทกระทรวงคมนาคม 2 ล้านล้านบาท (ดูเพิ่มที่ ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ….)

วันที่ 12 มิถุนายน จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีระยะเวลาดำเนินการในปี 2558-2565 กรอบเงินลงทุน 3 ล้านล้านบาท มี 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์รถไฟ ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ถนน ทางน้ำและทางอากาศ โดยเพิ่มแผนแม่บทโครงการทางอากาศจากแผนแม่บท 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่สามารถใช้เงินลงทุนของตัวเอง

การจับกุมและเรียกตัวบุคคลสาธารณะ

รักษาการนายกรัฐมนตรี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการเจรจา 7 ฝ่าย เดินทางออกจากสำนักงานที่กระทรวงการคลังทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมโดยทหารทันทีหลังเกิดรัฐประหารจากนั้น คสช. สั่งให้เขาและคณะรัฐมนตรีที่ไม่ถูกจับกุมมารายงานตัวภายในวันนั้นมีรายงานว่า นิวัฒน์ธำรงพยายามตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงเทพมหานคร แต่สถานทูตปฏิเสธรายงานดังกล่าว

คืนวันที่ 22 พฤษภาคม ทหารจับกุมนักการเมืองเพิ่มเติม รวมทั้ง ร้อยตำรวจเอก เฉลิม อยู่บำรุง] วันรุ่งขึ้น คสช. เรียกสมาชิกพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตร รวมทั้ง ยิ่งลักษณ์ นิวัฒน์ธำรงและยิ่งลักษณ์มารายงานตัวต่อ คสช. ในเช้าวันนั้น ยิ่งลักษณ์ถูกกักขังอยู่ที่ "เซฟเฮาส์" ที่ไม่เปิดเผย

ต่อมา คสช. เรียกบุคคลที่โดดเด่นอีก 114 คนจากทั้งสองฝ่าย และแถลงว่าผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะถูกจับกุมและดำเนินคดีนักเคลื่อนไหว สมบัติ บุญงามอนงค์ (บก. ลายจุด) เป็นบุคคลแรกที่ปฏิเสธไม่ไปรายงานตัว โดยกล่าวว่า "โคตรขำ ไม่ไปรายงานตัวถือเป็นความผิดอาญา" เขาท้าทายการเรียกโดยโพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า "Catch me if you can" (จับฉันเลยถ้าจับได้)  ศสช. สนองโดยแถลงในเช้าวันที่ 24 พฤษภาคมว่า จะส่งทหารไปจับตัวผู้ไม่มารายงานตัว

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นบุคคลแรกที่ถูกไต่สวนในศาลทหารเนื่องจากไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. โฆษก คสช. ยังกล่าวว่า การจัดการแถลงข่าวต่อสื่อต่างประเทศถือว่าไม่เหมาะสมและขัดต่อนโยบาย คสช

วันที่ 5 มิถุนายน สมบัติถูกจับกุมที่จังหวัดชลบุรี ทหารตามรอยเขาผ่านอินเทอร์เน็ต โดยใช้เลขที่อยู่ไอพีที่เขาใช้โพสต์ความเห็นของเขา กองทัพแถลงว่า สมบัติจะได้รับโทษจำคุกเจ็ดปีฐานชักชวนให้ประชาชนละเมิดคำสั่ง คสช. ซึ่งเป็น "กฎหมายของแผ่นดิน" นอกเหนือไปจากโทษจำคุกสองปีฐานขัดคำสั่ง คสช. กองทัพยังกล่าวว่าผู้ให้ที่พักพิงสมบัติจะได้รับโทษจำคุกสองปี

กองทัพยังสั่งให้นักการทูตไทยดำเนินมาตรการเพื่อบังคับให้นักวิชาการนอกประเทศที่ถูกเรียกให้รายงานตัวกลับประเทศ เป้าหมายหนึ่ง คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต กองทัพสั่งทั้งเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโตเกียวและกงสุลใหญ่ในโอซะกะว่า หากทั้งสองไม่สามารถบังคับให้ปวินกลับมาได้ จะถูกย้ายหรือให้พ้นจากราชการ

คสช. ยังสั่งให้นักเคลื่อนไหวที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและอยู่นอกประเทศมารายงานตัว รวมทั้งใจ อึ๊งภากรณ์ และจักรภพ เพ็ญแข โดยสั่งให้มารายงานตัวภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2557

จิตรา คชเดชถูกจับกุมตามหมายจับศาลทหารเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน วันที่ 17 มิถุนายน รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสานงานและเข้ารายงานตัวกับ คสช.

การควบคุมกิจกรรมของประชาชนและสื่อ

หลังประกาศรัฐประหารแล้ว คสช. กำหนดห้ามออกนอกเคหสถานเวลาค่ำคืนทั่วราชอาณาจักรระหว่างเวลา 22.00 น. ถึง 5.00 น. และยังห้ามชุมนุมทางการเมืองและสั่งผู้ประท้วงทั้งหมดให้สลายตัว และยังสั่งให้สถานศึกษาทุกแห่งปิดตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 25 พฤษภาคม 2557

ยิ่งไปกว่านั้น คสช. สั่งให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งหยุดออกอากาศรายการปกติและให้แพร่สัญญาณรายการของกองทัพบกเท่านั้นคสช. จับกุมวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ซึ่งดำเนินการสถานีไทยพีบีเอส หลังเขาอนุญาตให้แพร่สัญญาณรายการพิเศษเกี่ยวกับรัฐประหารทางยูทูบแทนโทรทัศน์ ในรายการ มีการสัมภาษณ์นักวิชาการหลายคน และให้ความเห็นเชิงลบเกี่ยวกับรัฐประหาร ไทยพีบีเอสกล่าวว่าวันชัยถูกนำตัวไปยังกองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 เพื่อ "ปรับความเข้าใจระหว่างสื่อและกองทัพ"

วันที่ 23 พฤษภาคม คสช. เรียกตัวหัวหน้าสื่อมายังสโมสรทหารบกและสั่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตให้ตรวจพิจารณาข้อมูลข่าวสารใดที่ดูยั่วยุ ปลุกปั่น อันจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย มีความลับของทางราชการ มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือหมิ่นประมาท คสช. นอกจากนี้ ยังขู่ปิดสื่อสังคมหากผู้ให้บริการไม่สามารถสกัดดั้นข้อมูลข่าวสารซึ่งปลุกระดมความไม่สงบหรือปลุกระดม "การคัดค้านการรักษาความสงบ"

บ่ายวันที่ 23 พฤษภาคม สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ระบบอะนาล๊อค (ช่องฟรีทีวี) ยกเว้นไทยพีบีเอส ได้รับอนุญาตให้ออกอากาศรายการปกติ หลัง คสช. สั่งผู้ให้บริการสกัดกั้นความพยายามการแบ่งแพร่สัญญาณ (broadcast sharing) บนอินเทอร์เน็ตและสั่งให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปิดโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต

วันที่ 24 พฤษภาคม องค์การสื่อออกจดหมายเปิดผนึกกระตุ้นให้ คสช. ยุติการจำกัดเสรีภาพสื่อให้เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ คสช. สนองโดยเรียกผู้ให้บริการสื่อทั้งหมด โดยบอกว่าพวกเขาจำเป็นต้องเข้าประชุมกับ คสช.

เพื่อสนองต่อกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารบนเครือข่ายสังคม คสช. สั่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ให้บล็อกเฟซบุ๊กในประเทศไทยเป็นระยะ มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม เย็นวันนั้น เฟซบุ๊กถูกบล็อกทั่วประเทศเป็นเวลาราวหนึ่งชั่วโมง ต่อมา เมื่อเวลา 17.00 น. รองโฆษก คสช. ออกมาแถลงว่า เป็นเหตุขัดข้องทางเทคนิค คสช. ไม่มีนโยบายปิดเฟซบุ๊ก และจากการตรวจสอบพบข้อขัดข้องทางเทคนิคที่เกตเวย์ (gateway) ด้านกระทรวงไอซีทีและ กสทช. ก็ออกมายืนยันทำนองเดียวกัน พลตำรวจตรี พิสิษฐ์ เปาอินทร์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงไอซีที ชี้แจงว่าเกิดจากปริมาณผู้ใช้ที่คับคั่ง ซึ่งเกิดจุดหน่วงที่ประเทศสิงคโปร์ ส่วนป้ายข้อความคำสั่งของ คสช. ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากความเข้าใจผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งขัดกับคำให้สัมภาษณ์ของสุรชัย ศรีสารคาม ปลัดกระทรวงไอซีที ต่อสำนักข่าวรอยเตอร์สที่ว่ามีการบล็อกเฟซบุ๊กจริง

เทเลนอร์ บริษัทแม่ของดีแทค ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย แถลงต่อเว็บไซต์เดอะเน็กซ์เว็บในเวลาต่อมาว่าได้รับคำสั่งจาก กสทช. ให้ระงับการเข้าถึงเฟซบุ๊กเป็นการชั่วคราวทำให้พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และประธาน กทค. ออกมากล่าวตอบโต้ว่า แถลงการณ์ดังกล่าวของดีแทคเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่เคารพในกฎกติการมารยาท จึงอาจตัดสิทธิ์ไม่ให้ดีแทคเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 4จี บนย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์

ก่อนหน้านี้ จนถึงวันที่ 24 พฤษภาคม กระทรวงไอซีแถลงว่าได้บล็อกยูอาร์แอลไปกว่า 100 ยูอาร์แอลภายใต้กฎอัยการศึก

วันที่ 27 พฤษภาคม คสช. จะส่งข้าราชการไปยังประเทศสิงคโปร์และญี่ปุ่นเพื่อให้เฟซบุ๊ก กูเกิลและไลน์ตรวจพิจารณาสื่อสังคมเข้มงวดขึ้น

ต่อมา มีประกาศเปลี่ยนเวลาห้ามออกนอกเคหสถานจากเดิมเป็น 0.00 น. ถึง 4.00 น. มีผลตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2557

วันที่ 28 พฤษภาคม เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนถูกปิดกั้นทางหน้าแรก นับเป็นการถูกปิดกั้นครั้งแรกหลังการรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549

วันที่ 1 มิถุนายน มีคลิปจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ แสดงภาพหญิงถูกกลุ่มชายนำตัวขึ้นรถแท็กซี่สีชมพูที่แยกอโศก ด้านพลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่าจะไม่จับกุมผู้ชุมนุมขณะมีฝูงชนเป็นจำนวนมาก แต่จะรอให้ออกจากที่ชุมนุมก่อน และกล่าวถึงกรณีการนำตัวขึ้นรถแท็กซี่ว่า กลุ่มชายดังกล่าวอาจไม่ใช่ตำรวจ อาจเป็นสามีพาตัวกลับบ้าน เพราะไม่ต้องการให้มาชุมนุม ฝ่ายผู้กำกับการสถานีตำรวจลุมพินีออกมายอมรับว่า ชายกลุ่มดังกล่าวเป็นตำรวจสืบสวนนอกเครื่องแบบ

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน วินธัย โฆษก คสช. ให้สัมภาษณ์ว่า จะมีการทำความเข้าใจกับผู้สนับสนุน กปปส. และพรรคประชาธิปัตย์ให้หยุดแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง และเตือนกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองและแกนนำคู่ขัดแย้งให้หยุดกล่าวหา คสช. วันเดียวกัน อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า ผู้ที่โพสต์หรือกดถูกใจ (like) โพสต์ที่ชวนคนมาชุมนุมบนเฟซบุ๊กถือว่ามีความผิด นอกจากนี้ การชุมนุมโดยมีเจตนาแสดงออกถึงการต่อต้าน เช่น ปิดปากกันทุกคน หรือกินแซนด์วิชที่ทราบว่ามีการอ่านแถลงการณ์ด้วย แสดงว่ามีเจตนา และว่า ขณะนี้ การกินแซนด์วิชเริ่มเข้าข่ายมีความผิดเหมือนกับการชู 3 นิ้วแล้ว

วันที่ 13 มิถุนาย คสช. ประกาศยกเลิกห้ามประชาชนออกจากเคหสถานทั่วราชอาณาจักร

กลุ่มกิจกรรม "คืนความสุขให้คนในชาติ"

คสช.จัดรณรงค์ "คืนความสุขให้คนในชาติ" โดยจัดการเฉลิมฉลองรับรัฐประหารซึ่งกองทัพจัดแสดงป๊อป โดยละเว้นการห้ามชุมนุมเกินห้าคน สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ประกาศว่าจะจัดเทศกาลดนตรีในสวนทุกวันพฤหัสบดี เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน ฝ่ายประยุทธ์จะจัดรายการรายสัปดาห์เพื่อสรุปงานของ คสช. ซึ่งจะไม่มีการตอบคำถามของสาธารณะ และสถานีวิทยุโทรทัศน์ทุกแห่งถูกบังคับให้แพร่สัญญาณ

วันที่ 11 มิถุนายน ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า คสช. ประสานงานให้ กสทช. จัดการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ทุกนัดผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 และช่อง 8 หลังศาลปกครองสูงสุดพิจารณาถึงที่สุดแล้ว พร้อมเชิญผู้แทนบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชันแนล บรอดคาสติง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนต์ จำกัด (อาร์เอสบีเอส) หารือแนวทางในการชดเชยโดยฝ่ายอาร์เอส เสนอให้มีค่าชดเชยเป็นเงิน 766.515 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และคณะกรรมการ กสทช. ประชุมพิจารณาการชดเชยดังกล่าว โดยออกมติให้ใช้กองทุน กทปส.ชดเชยให้อาร์เอสบีเอส เป็นเงินไม่เกิน 427.015 ล้านบาท ด้านสมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน โพสต์เฟซบุ๊กว่า การใช้เงินดังกล่าวไม่สมควร ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาติ ไร้สาระ และสูญเปล่า แนะนำว่า กสทช. ควรปฏิเสธ คสช. ไป เขาเสนอว่าเงินจำนวนดังกล่าวสามารถสร้างห้องสมุดประชาชนได้ทุกจังหวัด

ด้านวินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบกแถลงว่า คสช.ร่วมกับบริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชันแนล จำกัด, บริษัท พร้อมมิตร โปรดักชัน จำกัด และโรงภาพยนตร์จำนวน 160 แห่งทั่วประเทศ จัดกิจกรรมฉายภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี ” ให้ประชาชนทั่วไปเข้าชม ในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2557 รอบฉายเวลา 11:00 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ปฏิกิริยาในประเทศ

สนับสนุน

บนเฟซบุ๊ก มีการเว็บเปิดแฟนเพจชื่อ กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ต่อมา หลังเกิดรัฐประหาร ก็ใช้แฟนเพจเดียวกันนี้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของ คสช.

ผู้ประท้วง กปปส. จำนวนมากยินดีกับประกาศรัฐประหาร ณ ที่ชุมนุมพระพุทธะอิสระประกาศชัยชนะของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลบนเวทีก่อนขอให้ผู้ติตดามสลายตัวและกลับบ้าน ทหารยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อสลายผู้ประท้วงสนับสนุนรัฐบาล แม้ยังมีผู้ปฏิเสธไม่ยอมกลับในทีแรก ผู้ประท้วงกลุ่มสุดท้ายออกจากกรุงเทพมหานครในเย็นวันที่ 23 พฤษภาคม ศสช. จัดรถทหารเจ็ดสิบคันเพื่อส่งผู้ประท้วงทั้งสองฝ่ายกลับภูมิลำเนา

ทหารได้รับดอกไม้จากผู้สนับสนุน

มีรายงานประชาชนสนใจถ่ายรูปกับทหารและยานพาหนะของทหาร ทั้งมีการนำดอกไม้ อาหารและเครื่องดื่มมามอบให้ทหารในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสุโขทัย จังหวัดกาฬสินธุ์

วันที่ 23 พฤษภาคม หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ออกความเห็นว่า "เรามาถึงจุดนี้ได้เพราะนักการเมืองของเราไม่สามารถระงับความขัดแย้งของพวกเขาได้ด้วยวิธีปกติ และทหารใช้ความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่าของพวกเขาเป็นข้ออ้างลงมือ ตั้งแต่กำหนดกฎอัยการศึกและรัฐประหารในที่สุด ทุกกลุ่มซึ่งเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองเรื้อรังนี้ควรรับผิดชอบต่อผลลัพธ์แห่งความดื้อรั้นของตน พวกเขาควรเสียสละประโยชน์ส่วนตนแก่ผลประโยชน์ของชาติ"

นักวิชาการบางคนแย้งว่า ปัญหาของไทยไม่มีทางออกอื่นแล้ว

มาร์ค วิลเลียมส์ (Mark Williams) แห่งบริษัทปรึกษาวิจัยเศรษฐกิจแคปิตอลอีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า "ตลาดหลักทรัพย์อาจต้อนรับรัฐประหาร" เพราะลดความไม่แน่นอนและความเป็นไปได้ของการเผชิญหน้าทางการเมืองซึ่งอาจทวีความรุนแรงขึ้นได้" แต่คาดว่าผลทางบวกจะเกิดขึ้นระยะสั้น ๆ 

วันที่ 25 พฤษภาคม พีระศักดิ์ พอจิต อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุตรดิตถ์ ให้สัมภาษณ์ว่า คสช. ทำถูกแล้วที่ตัดสินใจยุบสภา เพราะจะทำให้ คสช. ดำเนินการล่าช้า การให้ คสช. กุมอำนาจทั้งหมดเป็นการดี เนื่องจากทำให้ คสช. ดำเนินการได้รวดเร็ว และเชื่อว่าเหตุการณ์หลังจากนี้น่าจะสงบขึ้นตามลำดับ

วันเดียวกัน มีการจัดการชุมนุมต่อต้านผู้ประท้วงรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เรียกร้องให้ คสช. ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง วันที่ 26 พฤษภาคม กลุ่มข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศจัดการชุมนุมคล้ายกัน

ด้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีท่าทีผสมกัน แม้เขาโพสต์ลงเฟซบุ๊กขออภัยที่ไม่สามารถผลักดันแผนปฏิรูปประเทศและปกป้องประชาธิปไตยได้ และพร้อมร่วมคัดค้านรัฐประหาร หาก คสช. ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะปฏิรูปอะไรและประชาชนจะมีส่วนร่วมอย่างไร และมีผู้รักประชาธิปไตยที่แท้จริงเสนอประชาธิปไตยที่ดีกว่า แต่เขาก็โพสต์สนับสนุนให้ คสช. ใช้มาตรการเข้มข้นขึ้นเพื่อรับมือกับการต่อต้านรัฐประหาร

หนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานหลังกองทัพจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวว่า กองทัพไทยเริ่มเครื่องจักรโฆษณาชวนเชื่อ และได้รับการช่วยเหลือจากสื่อไทยที่ส่วนใหญ่ "ยอมรับใช้" นับแต่รัฐประหาร หนังสือพิมพ์บ้านเมือง พาดหัวข่าวว่า "ชาวนารับเงินยิ้มทั้งน้ำตา" รายงานอื่นแสดงชาวนาเดินขบวนไปยังฐานทัพเพื่อมอบดอกกุหลาบและถือป้ายประกาศความปิติต่อผู้นำรัฐประหาร การเดินขบวนของชาวนาในจังหวัดภูเก็ต ลพบุรีและอุบลราชธานียังมีป้ายเดียวกันด้วย ชาวนาคนหนึ่งในอำเภอเชียงยืนให้สัมภาษณ์ว่า "ชาวนาจริงไม่ออกมาทำอย่างนั้นหรอก ชาวนาจริงวุ่นวายทำงานเกินไป"

ชาวกรุงเทพมหานครจำนวนมากยินดีกับรัฐประหารหลังความขัดแย้งทางการเมืองนานเจ็ดเดือน กลุ่มผู้สนับสนุนสถาบันมองว่า ทหารเป็นผู้พิทักษ์ความเป็นหนึ่งเดียวของชาติ ผู้ชุมนุมนิยมกองทัพกล่าวว่า พวกตนยินดีกับรัฐประหารหากหมายถึงการขจัดอิทธิพลของทักษิณ ก่อนหน้ารัฐประหาร การนำเสนอข่าวท้องถิ่นจำนวนมากพรรณนาว่าทหารเป็นวีรบุรุษมาสู้กับนักการเมืองและตำรวจที่เป็นผู้ร้ายที่กินเงินใต้โต๊ะ รัฐประหารครั้งนี้ยิ่งตอกย้ำความแตกแยกของประเทศ

มีการตั้งกลุ่มสนับสนุนรัฐประหารอย่าง "สนับสนุน คสช."ฯ หรือ "สนับสนุนกองทัพไทย" ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของกองทัพ และอีกจำนวนหนึ่งปัดคำวิจารณ์ของต่างชาติ และว่า คนต่างชาติไม่เข้าใจวิกฤตการณ์ของไทย ไม่เข้าใจว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศไทยเลวร้ายเพียงใด

นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า ประยุทธ์ควรเป็นนายกรัฐมนตรี ควรใช้อำนาจเด็ดขาด อย่าเป็นนักประชาธิปไตยเหมือนสุรยุทธ์ จุลานนท์ อย่าสนใจคำครหานินทาว่ามาจากรัฐประหาร หากทำดี แก้ปัญหาได้ ทำประเทศปรองดองได้ ทุกคนจะสรรเสริญ

สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนไม่เคยสนับสนุนหรือส่งเสริมรัฐประหาร แต่ควรมองต่อไปว่าเมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้ประเทศก้าวต่อไปข้างหน้า ดีกว่ามาคิดว่ารัฐประหารนี้ควรหรือไม่ "โจทย์ใหญ่วันนี้คือเราจะทำอย่างไรให้รัฐประหารซึ่งมีทั้งคนชอบและไม่ชอบจะไม่สูญเปล่า" และกล่าวว่า ไม่มีทางที่รัฐประหารจะอยู่ค้ำฟ้า อีกไม่นานก็จะกลับสู่วิถีประชาธิปไตย เขายังเชื่อว่า หากรัฐบาลยอมลาออกจากตำแหน่งจะไม่เกิดรัฐประหาร

วันที่ 15 มิถุนายน สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจความสุขที่ประชาชนได้รับจาก คสช. ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม ซึ่งถามความคิดเห็นของประชาชน 1,634 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 ถึง 14 มิถุนายน โดยอันดับแรก คือ การชุมนุมทางการเมืองยุติ ทำให้บ้านเมืองสงบสุข

สันติ วิริยะรังสฤษฎ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารการเงินธนาคาร เจ้าของนามปากกา ลม เปลี่ยนทิศ คอลัมน์ หมายเหตุประเทศไทย ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ว่ารัฐประหารของ คสช. ครั้งนี้ประสบความสำเร็จและ คสช. ได้รับความชื่นชมจากประชาชนและนักธุรกิจทุกภาคส่วนมากขึ้น ควรที่ผู้นำชาติตะวันตกจะมาศึกษา ประชาชนรู้สึกดีต่อผู้นำที่มาจากรัฐประหาร เพราะไม่อยู่ภายใต้รัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงและเรียกสินบนจากเอกชน รัฐประหารครั้งนี้เป็นการเรียกศรัทธาและความสุขให้คนไทย เขาหวังให้ประยุทธ์ปฏิรูปประเทศไทยด้วยระบบคุณธรรมและยุติธรรม อย่าปล่อยทิ้งไว้เหมือนรัฐประหารครั้งก่อน

คัดค้าน

กลุ่มสื่อมวลชน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนในประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ต่อต้านการคุกคามสื่อ โดยเรียกร้องให้กองทัพบก ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก และยกเลิกประกาศ กอ.รส.ฉบับที่ 3, 7, 8 และ 9 ซึ่งจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ในการแสดงออกของสื่อมวลชน

ชาวไทยต่อต้านรัฐประหารอย่างจำกัด แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เดินขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐประหาร

นักวิชาการชาวไทยมีปฏิกิริยารุนแรงต่อรัฐประหาร โดยส่วนใหญ่แสดงความกังวลจริงจังต่อผลกระทบเชิงลบต่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของไทย[202] กลุ่มอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เรียกตนว่า สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ออกแถลงการณ์ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 โดยเน้นสิทธิของบุคคลในการคัดค้านรัฐบาลไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้ทหารปล่อยตัวผู้ถูกจับทันที ในแถลงการณ์ สปป. กล่าวว่า

"การปกครองที่ดีนั้นไม่ใช่การปกครองด้วยการใช้กำลังบังคับข่มเหงเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำให้ประชาชนยอมรับ ทำให้ประชาชนให้ความยินยอม เป็นผู้มีวาจาสัตย์ และเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนทุกฝ่าย หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นประชาชนเป็นศัตรูและมุ่งใช้กำลังข่มเหงเพียงอย่างเดียวเช่นนี้แล้ว ท่านก็จะต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างไม่รู้จบ และท่านก็จะปราบปรามประชาชนไปนับไม่ถ้วน จนกระทั่งท่านก็จะไม่เหลือประชาชนให้ปกครองอีกเลย"

นอกจากนี้ สมาชิก สปป. ยังชุมนุมกันหน้าอาคารโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันเดียวกัน เพื่อแสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหาร นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนยังออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหารและเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก

เวลา 14:45 น. เพชรรัตน์ วงศ์วิเศษ ชาวกรุงเทพมหานคร ได้บุกไปยังบริเวณทางเข้าหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ พร้อมแขวนป้าย "ช่วยด้วย ฉันถูกปล้น" ซึ่งสื่อให้เห็นว่าเพชรรัตน์ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้ และรู้สึกไม่พอใจที่ถูกทหารปล้นประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ รวมทั้งไม่พอใจที่คนไทยส่วนใหญ่เงียบเฉยกับสิ่งนี้ โดยสื่อต่างชาติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แต่ในเวลาไม่นาน เพชรรัตน์ก็เดินทางกลับ และเวลา 16:55 น. มีกลุ่มประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารเริ่มตั้งกลุ่มชุมนุมบริเวณด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน

เวลา 18:00 น. ประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกมารวมตัวกัน ณ ประตูช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อต่อต้านการแทรกแทรงทางการเมืองของกองทัพ ตลอดจนการประกาศใช้กฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม และรัฐประหาร และเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากประตูช้างเผือกไปตามถนนมณีนพรัตน์ฝั่งคูเมืองเชียงใหม่ด้านนอก มุ่งไปทางแจ่งศรีภูมิทางทิศตะวันออกของคูเมืองเมื่อเวลา 19.00 น เวลา 19:47 น. กลุ่มประชาคมจุฬาลงกรณ์เพื่อประชาชน ออกแถลงการณ์คัดค้านการทำรัฐประหารของ คสช. โดยขอให้ คสช. ประกาศยุบตัวเอง และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการมาดำเนินการจัดการเลือกตั้งในทันที เพื่อเป็นการยืนยันว่า อำนาจทางอธิปไตยยังคงเป็นของประชาชน

กลุ่มผู้ประท้วงที่ลานหน้าห้างเทอร์มินัล 21 เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ในวันที่ 24 พฤษภาคม มีกลุ่มบุคคลจัดการประท้วงต่อต้านรัฐประหารหน้าโรงภาพยนตร์เมเจอร์รัชโยธินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทหารพร้อมโล่ปราบจลาจลประจำอยู่[223] ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งตั้งใจเดินบวนมายังอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแต่ถูกทหารสกัด วันเดียวกัน คสช. เรียกนักวิชาการนิยมประชาธิปไตย แต่ผู้ถูกเรียกตัวกล่าวว่าจะไม่ยอมมอบตัวกับทหาร แม้ คสช. ขู่ว่าผู้ที่ไม่มารายงานตัวจะได้รับโทษอาญา ในจังหวัดขอนแก่น นักศึกษาจัดพิธีลาประชาธิปไตยหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารประจำอยู่ ในจังหวัดมหาสารคาม นักศึกษาจัดประท้วงต่อต้านรัฐประหารกลางนคร แต่ทหารมายึดอุปกรณ์ประท้วง รวมทั้งป้ายผ้า

วันที่ 25 พฤษภาคม มีผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารชุมนุมหน้าร้านอาหารแมคโดนัลด์ที่แยกราชประสงค์ ใจกลางกรุงเทพมหานคร แต่ทหารเข้ามายึดพื้นที่ ผู้ประท้วงอีกกลุ่มหนึ่งพยายามเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังแยกปทุมวัน แต่ทหารสกัดไว้

นักวิชาการเรียกร้องให้สมาชิก คสช. แสดงทรัพย์สินต่อสาธารณะ ทว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) กล่าวว่า ไม่มีกฎหมายกำหนดเช่นนั้น

มีนักกิจกรรมต่อต้านรัฐประหารจำนวนหนึ่งในจังหวัดเชียงรายถูกศาลทหารเชียงรายเรียกตัวและถูกกักขังโดยไม่มีข้อกล่าวหา

วันที่ 1 มิถุนายน มีการนัดหมายชุมนุมต้านรัฐประหารโดยไม่แจ้งสถานที่ล่วงหน้า จึงมีการจัดเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ 38 กองร้อยประจำอยู่ตามสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร หรือตามสถานที่ที่เคยมีการชุมนุม แต่วันนี้ไม่มีรายงานนัดชุมนุมในพื้นที่ซึ่งมีทหารและตำรวจประจำอยู่ ที่ลานหน้าห้างเทอร์มินัล 21 มีผู้ชุมนุมหลายสิบคนชูสัญลักษณ์สามนิ้วแบบภาพยนตร์เรื่องเกมล่าชีวิต ต่อมา เจ้าหน้าที่พยายามเข้าจับกุมและปิดห้างเทอร์มินัล 21 มีรายงานผู้ถูกจับกุม 4 คน สัญลักษณ์สามนิ้วเป็นตัวแทนของความเสมอภาค เสรีภาพและภราดรภาพ กองทัพประกาศว่าจะจับทุกคนที่ใช้สัญลักษณ์ดังกล่าว

วันที่ 7 มิถุนายน หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานว่า พรรคเพื่อไทยแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม สมาชิกกลุ่มหนึ่งกล่าวอย่างเปิดเผยว่าจะต่อสู้กับคณะรัฐประหาร กลุ่มที่สองเลือกไม่ต่อต้านและพยายามลดบทบาท ส่วนกลุ่มที่สามตัดสินใจรอดูสถานการณ์ มีรายงานว่าจักรภพ เพ็ญแข อดีตแกนนำ นปก. กำลังใช้กลวิธีจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลพลัดถิ่น เพราะปฏิกิริยาต่อต้านรัฐประหาร และผลประโยชน์ทางการเมืองและธุรกิจของสกุลชินวัตร

วันที่ 10 มิถุนายน ฉลาด วรฉัตร ฟ้อง คสช. ปลัดกระทรวง และเจ้ากรมพระธรรมนูญ รวม 28 คน ในความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยและความผิดฐานกบฎ จากการประกาศใช้กฎอัยการศึกและยึดอำนาจการปกครองประเทศ

ต่างประเทศกฎอัยการศึก

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แถลงว่ารับทราบการประกาศกฎอัยการศึกในไทยแล้ว พร้อมทั้งกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ยังมีความกังวลอย่างยิ่ง ต่อวิกฤตการเมืองไทยซึ่งถลำลึกยิ่งขึ้น และเรียกร้องทุกฝ่าย เคารพหลักการประชาธิปไตย รวมถึงเคารพเสรีภาพในการสื่อสาร สหรัฐอเมริกามีความเข้าใจว่า กองทัพบกประกาศว่าไม่ใช่รัฐประหาร และตั้งความหวังว่ากองทัพบกจะยึดมั่นว่าเป็นเรื่องชั่วคราว เพื่อป้องกันเหตุรุนแรง และไม่บ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตย โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกัน แก้ไขความขัดแย้งด้วยการเจรจา เพื่อแสวงหนทางเดินหน้าต่อไป และตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นของการเลือกตั้ง ซึ่งจะชี้วัดความปรารถนาของประชาชนไทย

ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่น แสดงความวิตกกังวลอย่างมาก และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรง เช่นเดียวกับนักลงทุนญี่ปุ่นในไทย ที่แสดงความวิตกกังวลอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทผลิตรถยนต์ ทั้งฮอนดา, โตโยตา และนิสสัน สหภาพยุโรปเรียกร้องให้เกิดการเลือกตั้งในประเทศไทย เพื่อให้มีรัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อผลประโยชน์ของไทยเอง รวมทั้งขอให้กองทัพ เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อมวลชน

รัฐประหาร

จนถึงวันที่ 3 มิถุนายน มี 19 ประเทศเตือนให้พลเมืองเลี่ยงการเดินทางเข้าประเทศไทยหากไม่จำเป็น และ 43 ประเทศเตือนให้พลเมืองระมัดระวังหากเดินทางเข้าประเทศไทย ตลอดจนควรติดตามสถานการณ์และเลี่ยงสถานที่ชุมนุม

องค์การเหนือรัฐ

 สหภาพยุโรป – โฆษกสหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ “เราเฝ้าติดตามการพัฒนาในประเทศไทยด้วยความวิตกอย่างยิ่ง กองทัพต้องยอมรับและเคารพอำนาจของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย...เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ และทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของประเทศ”

 สหประชาชาติ –

พัน กี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ออกแถลงผ่านโฆษกแสดงความกังวลเกี่ยวกับรัฐประหารดังกล่าว โดยเรียกร้องให้ "กลับคืนสู่การปกครองตามรัฐธรรมนูญ โดยพลเรือน เป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว" และความเคลื่อนไหวสู่ความร่วมมือระหว่างทุกฝ่าย

เนวี พิลเลย์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประณามรัฐประหาร เธอกล่าวว่าสำนักงานของเธอเฝ้าติดตามสถานการณ์ในห้าเดือนที่ผ่านมา และเธอ "กังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับการแทนที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การกำหนดกฎอัยการศึก การระงับรัฐธรรมนูญและมาตรการฉุกเฉินซึ่งจำกัดความสำราญแห่งสิทธิมนุษยชนด้วยกำลัง" เธอยังกระตุ้นให้ฟื้นฟูหลักนิติธรรมในประเทศไทยโดยเร็ว

ภาครัฐ

 ออสเตรเลีย – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จูลี บิชอป แสดงออกว่าเธอ "กังวลอย่างยิ่ง" ต่อรัฐประหาร และอธิบายสถานการณ์ว่า "ไม่แน่นอน" เธอยังกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียใช้ความระมัดระวังและให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของตนอย่างใกล้ชิด[245] ออสเตรเลียยังลดความสัมพันธ์กับไทย ห้ามผู้นำรัฐประหารเข้าประเทศ และเลื่อนกิจกรรมทางทหารกับกองทัพไทย

 กัมพูชา – ข้าราชการกัมพูชาแสดงความกังวลว่าอาจเกิดความตึงเครียดขึ้นที่ชายแดนกัมพูชา–ไทย โฆษกคณะรัฐมนตรี ปาย สิฟาน (Phay Siphan) กล่าวว่า "เราปรารถนาเห็น[รัฐประหาร]นี้ไม่เป็นอันตรายต่อการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย การรักษาสันติภาพและเสถียรภาพ และยังเคารพ[และคุ้มครอง]เจตจำนงและผลประโยชน์ของชาวไทย" และเสริมว่าไม่คาดว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่ชายแดนกัมพูชา–ไทย สิฟานยังกล่าวว่า รัฐบาลกัมพูชาจะเคารพผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างสองประเทศเสมอ

 จีน – กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์สั้น ๆ แสดงความกังวลต่อสถานการณ์และหวังให้ความสงบเรียบร้อยกลับคืนสู่ประเทศไทย

 ฝรั่งเศส – ฟร็องซัว ออล็องด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประณามรัฐประหารของไทย โดยสำนักเลขาธิการของออล็องด์ระบุว่า “ฝรั่งเศสเรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญกลับคืนมาเพื่อจัดการเลือกตั้ง และให้เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนด้วย”

 เยอรมนี – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ออกแถลงการณ์ประณามรัฐประหาร เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งและฟื้นฟูการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว

 ญี่ปุ่น – ฟุมิโอะ คิชิดะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยเร็ว

 มาเลเซีย – กระทรวงการต่างประเทศแนะนำให้พลเมืองมาเลเซียหลีกเลี่ยงการเดินทางมาประเทศไทยในขณะนี้และเลื่อนการเยือนประเทศไทยที่ไม่จำเป็น ทั้งแนะนำให้พลเมืองมาเลเซียในประเทศไทยปฏิบัติตามการห้ามออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืนเพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลและเหตุผลด้านความมั่นคง ขณะเดียวกัน อดีตนายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ออกความเห็นว่า รัฐประหารในประเทศไทยจะไม่กระทบต่อประเทศมาเลเซียในด้านการเมืองหรือเศรษฐกิจ

 รัสเซีย – กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียเรียกร้องให้หวนคืนสู่กระบวนการการเมืองและการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญโดยเร็ว 

 สิงคโปร์ – โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสิงคโปร์แถลงด้วยความหวังว่าทุกฝ่ายจะอดกลั้นและร่วมมือกันเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นบวก ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อจะฉุดให้ไทยและชาติอาเซียนโดยรวมก้าวถอยหลัง และหวังว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ปกติโดยเร็ว

 สหราชอาณาจักร – รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ วิลเลียม เฮก ออกแถลงการณ์กระตุ้นให้ "ฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อบริการประชาชนและบรรลุพันธกรณีสิทธิมนุษยชน"

 สหรัฐอเมริกา – กระทรวงกลาโหมแห่งสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า กำลังทบทวนความช่วยเหลือแบบกองทัพต่อกองทัพ และการเกี่ยวพันกับประเทศไทย โดยอาจจะรวมถึงการซ้อมรบร่วมที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศไทย ซึ่งกองทัพสหรัฐส่งนาวิกโยธินและทหารเรือเข้าร่วมประมาณ 700 นาย สหรัฐอเมริการะงับเงินช่วยเหลือทางทหารแก่ประเทศไทยมูลค่า 3.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐจากเงินช่วยเหลือรวม 10.5 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และยกเลิกข้อผูกพันทางทหาร รวมทั้งการเยือนและการฝึกทหา] นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทางและชะลอการเยือนของข้าราชการที่ไม่จำเป็น

ผมผิดหวังต่อการตัดสินใจของทหารไทยที่ล้มรัฐธรรมนูญและเข้าควบคุมการปกครองภายหลังความวุ่นวายทางการเมืองที่ยาวนาน มันไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมสำหรับรัฐประหารในครั้งนี้ ผมยังกังวลเกียวกับรายงานที่ว่า ผู้นำของพรรคการเมืองหลัก ๆ ของไทยได้ถูกกักตัว และขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวพวกเขา และยังกังวลอีกในเรื่องที่ว่า ได้มีการระงับการแสดงออกของสื่อ ผมเรียกร้องขอให้มีการฟื้นฟูรัฐบาลพลเรือนและกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยในทันที ตลอดจนเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน อาทิ เสรีภาพของสื่อ เส้นทางข้างหน้าของประเทศไทยต้องมีการเลือกตั้ง ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชน


เราให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างเรากับชาวไทย การกระทำนี้จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง สหรัฐ-ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับทหารไทย เรากำลังทบทวนความช่วยเหลือและข้อตกลงทางการทหารที่สอดคล้องกับกฎหมายของสหรัฐ

— จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา

นอกภาครัฐ

มีกลุ่มนักวิชาการไทยศึกษาจำนวน 26 คน จาก 7 ประเทศ ลงนามยื่นจดหมายเปิดผนึกแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อรัฐประหารครั้งนี้ รวมถึงท้วงติงข้อความบางจุดในประกาศ คสช. ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 จากประโยคที่ว่า "ขอให้ประชาชนอยู่ภายใต้ความสงบเรียบร้อย และดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ" ว่าดูขัดแย้งกับความจริงว่าการดำรงชีวิตตามปกติภายใต้ประกาศนี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก "การประหาร" รัฐนั้นคือความรุนแรงอย่างชัดแจ้ง และกองทัพต้องคืนอำนาจทั้งหมดให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

องค์การนิรโทษกรรมสากลออกแถลงการณ์ว่า การจับกุมนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหารอย่างสันติเป็น "บรรทัดฐานอันตราย" และ "การรักษาความสงบเรียบร้อยไม่อาจเป็นข้ออ้างละเมิดสิทธิมนุษยชนได้" นอกจากนี้ ยังกระตุ้นให้ คสช. เปิดเผยที่อยู่ของผู้ที่ถูกจับกุมและกักขัง

คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียประณาม คสช. ที่คุกคามนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว โดยเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังทันที และแสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการเสื่อมถอยของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วในประเทศไทย

ฮิวแมนไรท์วอทช์อธิบายการกระทำของ คสช. ว่าเป็นการใช้ "อำนาจกฎอัยการศึกโหด" และเรียกร้องให้เลิกใช้ทันที ผู้อำนวยการเอเชีย แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ระบุว่า "กองทัพไทยต้องรับรองว่ารัฐบาลควรกำหนดโดยบัตรเลือกตั้ง ไม่ใช่ลูกปืน"

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศพม่า แถลง แสดงความเป็นห่วงเสรีภาพสื่อไทยที่ถูกรัฐบาลทหารปิดกั้น นอกจากนี้ยังเรียกร้อง คสช. ให้ยกเลิกคำสั่งที่กระทบต่อเสรีภาพของสื่อมวลชน และปล่อยตัวผู้สื่อข่าวที่ถูกควบคุมตัว หากจริงใจต่อการปรองดองและปกป้องประชาธิปไตยจริง

กลุ่มนักศึกษาชาวไทยและต่างประเทศในประเทศญี่ปุ่น 20 คน ชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร โดยสวมหน้ากากบุคคลต่าง ๆ

นักแสดง เกมล่าชีวิต แสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่ใช้สัญลักษณ์สามนิ้วของภาพยนตร์เป็นวิธีแสดงการคัดค้าน นาตาลี ดอร์เมอร์ (Natalie Dormer) อธิบายการใช้สัญลักษณ์ดังกล่าวว่า "เหลือเชื่อ" และว่า "สิ่งใดซึ่งกระตุ้นผู้คนในทางบวกที่จะต่อสู้กับการกดขี่ไม่อาจถูกวิจารณ์ได้ในทุกสภาพหรือรูปแบบ"

ผลกระทบ

จุดผ่านแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านบางจุดยังคงปิดหลังรัฐประหาร]

วันที่ 27 พฤษภาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแถลงว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศลดลงร้อยละ 20 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน สมาคมการท่องเที่ยวเอเชียแปซิฟิกเปิดเผยว่านับแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ยอดจองตั๋วเครื่องบินโดยสารมายังประเทศไทยตกลงไปเฉลี่ยวันละกว่า 5,000 ที่นั่ง โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่นิยมจองตั๋วล่วงหน้าระยะสั้น เช่น นักท่องเที่ยวชาวจีน ทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาเดินทางมายังประเทศไทยว่าจะต่ำสุดในรอบ 5 ปี

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน และตลาดหลักทรัพย์ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นวันที่หกติดต่อกัน สะท้อนว่าสาธารณะและนักลงทุนไทยรู้สึกกับท่าทีของกองทัพในเชิงบวก นอกจากนี้ เงินบาทยังแข็งค่าขึ้น 0.5% แต่บริษัทวาณิชธนกิจ โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs) ชี้ว่า ผลนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะในระยะสั้น

เอเชียเซนตินัล รายงานเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนว่า กลุ่มสิทธิไทยปประเมินว่า ยังมีผู้ถูกคุมขังอยู่ราว 200 คนนับแต่เกิดรัฐประหาร

บีบีซีรายงานเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนว่า ชาวกัมพูชากว่า 180,000 คน หนีออกนอกประเทศไทยหลัง คสช. ประกาศกวาดล้าง ซอ เคง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา กล่าวว่า ทางการไทยต้องรับผิดชอบ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ รายงานว่า การออกไปของแรงงานเหล่านี้อาจเป็นก้าวที่ผิดพลาดของผู้นำทหารในความพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฝ่ายแรงงานพม่าไม่ออกจากประเทศไทย เพราะตลาดแรงงานของพม่ามีทางเลือกน้อยกว่าตลาดแรงงานของกัมพูชา แรงงานบางส่วนเสนอว่า การเมืองอาจมีบทบาทและกล่าวหาพวกชาตินิยมและคู่แข่งของทักษิณว่าแพร่ข่าวลือ

สหภาพยุโรปจะชะลอการลงนามความตกลงความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (Partnership and Cooperation Agreement) และเรียกร้องให้กองทัพไทยฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง และยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกกักขังการเมืองและยุติการตรวจพิจารณา